เปิดประสบการณ์ใหม่กับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโลกธรรมชาติ ภายใต้ธีม “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ซึ่งจัดขึ้นที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานนี้รวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินหลากหลายสาขา ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘พระแม่ธรณี’ สัญลักษณ์แห่งการหล่อเลี้ยงและการคุ้มครองชีวิต คอยปรารถนาต่อการปลอบประโลม ท่ามกลางการต่อสู้กับความทุกข์ยากและความวุ่นวายของโลก
🗓 วันที่จัดงาน: วันนี้ - 25 กุมภาพันธ์ 2568
⏰ เวลา: 11.00 น. - 19.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
📍 สถานที่: ชั้น B2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผลงานที่น่าสนใจใน “รักษา กายา (Nurture Gaia)”
1. ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี” โดย กัญญา เจริญศุภกุล
ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้สะท้อนภาพพระแม่ธรณีที่เปี่ยมด้วยความเจ็บปวดและโหยหาการฟื้นฟู โดยศิลปินใช้สีสัน น้ำ และทราย ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบจากธรรมชาติ ผสานกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง ความทุกข์ทรมานของพระแม่ธรณีเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การขุดเจาะผืนดินเพื่อหาพลังงาน การทำลายป่าที่เคยปกคลุมผืนโลก และการละเลยคุณภาพของอากาศซึ่งเป็นลมหายใจแห่งชีวิตของพวกเราเอง เรือนกายที่ราวกับถูกอาบด้วยโลหิตบนผืนผ้าใบสื่อถึงบาดแผลที่รอการเยียวยา ขณะที่สีขาวที่ถูกแต่งแต้มลงบนภาพ แสดงถึงความหวังและการฟื้นฟูกลับคืนสู่สมดุลอีกครั้ง
2. Story from Plateau โดย บุญโปน โพทิสาน
ประติมากรรมสร้างสรรค์จากปลอกกระสุนที่เคยถูกใช้ในสงคราม ถ่ายทอดผลกระทบที่ยังคงหลงเหลือในชีวิตของผู้คน ทั้งในแง่ความสูญเสียและผลกระทบต่อธรรมชาติ
3. Telle mere tel fils (ดุจมารดาดั่งบุตร) โดย อเดล อับเดสเซเหม็ด
ผลงานการจัดวางที่ดัดแปลงเครื่องบินสามลำให้มีรูปร่างบิดเบี้ยวคล้ายงู ด้วยวัสดุผ้าสักหลาดเป่าลม ผลงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็กของศิลปินกับมารดา และถ่ายทอดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างแม่และลูกชาย
4. Spectre System โดย ปรียากีธา ดีอา
ผลงานที่นำเสนอเรื่องราวของแรงงานในสวนยางพาราเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการเดินทางของตัวเอกที่เผชิญหน้ากับความเงียบอันน่าหวาดหวั่น เสียงหายใจหนัก และภาพพิมพ์ไวนิลที่เผยให้เห็นมือและแขนในท่าบิดเบี้ยว ผลงานนี้สะท้อนถึงความทรงจำที่เจ็บปวดและประวัติศาสตร์อันซับซ้อนที่แทรกซึมอยู่ในธรรมชาติ
ร่วมดื่มด่ำกับศิลปะที่เปิดมุมมองใหม่ และสร้างบทสนทนาเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เริ่มต้นที่ “รักษา กายา (Nurture Gaia)”ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์!
Comentários