ภาคเอกชนภูเก็ตยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือแก้ปัญหาการประกอบการธุรกิจนำเที่ยวทางทะเลและกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล
วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ต พร้อมด้วยนายกฤษฎา พิเชฐพงษานนท์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลภูเก็ต, นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล ประธานชมรมผู้ประกอบการเรือดำน้ำลึก ภูเก็ต และนางสาวพรรัตน์ ตัณฑ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีทราน ทราเวิล จำกัด ผู้บริหารท่าเรือรัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เข้าพบนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอความช่วยเหลือแก้ปัญหาการประกอบการธุรกิจนำเที่ยวทางทะเลและกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยมีนางสาวนันทาศิริ รณศิริ ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ต, นายณชพงศ์ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต และนายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ร่วมหารือด้วย
นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดำเนินการมากว่า 1 เดือนนั้น ปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้รับปัญหาเป็นข้อขัดข้องและกระทบต่อการหารายได้ จากการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนเกินไป ตลอดจนการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน การให้ข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมและไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้การประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยรวมยังขาดโอกาสเพื่อเข้าถึงรายได้ ในภาวะที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่างต้องดิ้นรนต่อสู้เอาตัวรอดจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ากันอย่างหนัก ทั้งยังถูกเร่งรัดหนี้สินและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แต่ต้องมาประสบกับความยุ่งยาก ซ้ำซ้อนของเงื่อนไขต่างๆ เป็นการตัดโอกาสในการหารายได้ จึงกลายเป็นมโนภาพที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ส่วนมากมองกันว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กำลังเอื้อประโยชน์แค่ผู้ประกอบการเพียงบางกลุ่ม จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
ขอให้มีการเปิดเส้นทาง One Day Trip ทางเรือและทางรถ หลังจากนักท่องเที่ยวอยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบ 14 วัน สามารถเดินทางไปไหนก็ได้ แต่ติดขัดกับคำสั่งจังหวัดต้นทางและปลายทาง หรือกรณี 7+7 วัน เนื่องจากมีการสวอป 2 ครั้งแล้ว ซึ่งเข้าเงื่อนไขของมาตรการให้เดินทางในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่การขายอาจทำได้น้อย เนื่องจากนักท่องเที่ยว ที่มาแบบ 7+7 วัน เมื่อครบตามเงื่อนไขแล้ว ส่วนใหญ่จะเดินทางไปพักผ่อนในพื้นที่พังงาหรือกระบี่อยู่แล้ว โดยมีเส้นทางดังนี้ เส้นทาง เกาะไข่ (ท่าเรือจังหวัดภูเก็ต-ไปเกาะไข่พังงา) เป็นเกาะที่ไม่มีชุมชนอาศัย เห็นควรอนุญาตให้เปิดการท่องเที่ยวแบบ One Day Trip ในเส้นทางนี้ได้ ตั้งแต่ นักท่องเที่ยว ผ่านการ Swab แรกและมีผลเป็นลบ, เส้นทาง เกาะปันหยี จากท่าเรือ (ภูเก็ต)- ไปเกาะปันหยี(พังงา) หากเป็นกรณี นักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ 14 วัน ในภูเก็ต จะมีการขึ้นไปรับประทานอาหารบนเกาะ ซึ่งเป็นชุมชนจะมีมาตรการควบคุมอย่างไร ให้สามารมดำเนินการได้ แต่หากเป็นกรณี 7+7วัน ให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ผลตรวจ Swab ครั้งที่ 2 เป็นลบ, เส้นทางเกาะยาวน้อย ยาวใหญ่ จากท่าเรือภูเก็ต หากเป็นกรณี 7+7 วัน ให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ผลตรวจสวอปครั้งที่ 2 เป็นลบ เส้นทางดำน้ำ จุดเรือจม คิงครุยเซอร์-หินมุสังข์-เกาะดอกไม้ ทางเรือ (พังงา) กรณีเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวดำน้ำ (ไม่มีการขึ้นฝั่งหรือเกาะในพื้นที่จังหวัดอื่น เห็นควรอนุญาตให้เปิดการท่องเที่ยวแบบ One Day Trip ในเส้นทางนี้ได้ ตั้งแต่นักท่องเที่ยว ผ่านการตรวจสวอปครั้งแรกและมีผลเป็นลบ, เส้นทาง หมู่เกาะปิดะนอก ปิดะใน -พีพีเล ทางเรือ (กระบี่) ) หากเป็นกรณี นักท่องเที่ยวแซนด์บ้อกซ์ 14 วัน ในภูเก็ต จะมีการขึ้นไปรับประทานอาหารบนเกาะซึ่งเป็นชุมชน จะมีมาตรการควบคุมอย่างไร ให้สามารมดำเนินการได้ แต่หากเป็นกรณี 7+7 วันให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ผลตรวจสวอปครั้งที่ 2 เป็นลบ และเส้นทาง เขาหลัก-เขาสก-ภูเก็ต ทางรถ (พังงา) หากเป็นกรณี 7+7 ให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ผลตรวจสวอปครั้งที่ 2 เป็นลบ
ในการเดินทางของนักท่องเที่ยว One Day Trip ขอใช้ผลตรวจ ครั้งที่ 2 และ 3 หรือผลตรวจภายใน 72 ชม. เข้าออกภูเก็ตได้ โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ ทั้งทางรถและทางเรือ ในส่วนคนขับเรือ คนขับรถ ไกด์ และพนักงาน ประจำรถหรือเรือนั้นๆ ขอใช้เอกสารในการเข้าออกภูเก็ต ประกอบด้วย ทะเบียนรถ หรือ ทะเบียนเรือ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย, ใบขับขี่, ใบนายท้าย,ใบช่างเครื่อง หรือบัตรไกด์ ถูกต้องตามกฎหมาย และผลการฉีดวัคซีนครบโดส และ 3. พนักงานที่ให้บริการบนเรือ, พนักงานขับรถ รวมถึงไกด์ สำหรับโปรแกรม One Day Trip เมื่อฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่ต้องใช้ผลการตรวจ หรือทำสวอป เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามนายณรงค์ กล่าวภายหลังรับหนังสือและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการแล้ว ว่าจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปหารือในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต พิจารณาให้ความเห็นชอบว่า ส่วนไหนสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไรและจะได้แจ้งให้กับผู้ประกอบการทราบต่อไป
Comments